กิจกรรมสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ครั้งที่ 3 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
กิจกรรม สร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม ครั้งที่ 3 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 13.00 น. 2563 ณ โรงแรมเอราวัณพังงา จ.พังงา
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในการเปิดกิจกรรมสัมมนาครั้งที่ 3 ภายใต้หัวข้อ “สร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้การปฏิบัติงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center) ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลัก 12 ด้านของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการจัดการข้อมูลที่เป็นเท็จทางสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะข่าวปลอม (Fake News) ที่สร้างความเข้าใจผิด ความตื่นตระหนกและความเสียหายกับประชาชนและสาธารณชนในวงกว้าง และสร้างแนวทางการรับรู้ และรับมือกับข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 13.00 น. 2563 ณ โรงแรมเอราวัณพังงา จ.พังงา
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti Fake News Center: AFNC) ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 โดยได้ร่วมกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) (ศปอส.ตร.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระดมทุกกลยุทธ์เพื่อให้ประชาชนคนไทยรู้เท่าทันสื่อลวง ทั้งในแง่ของการจัดการกับข่าวปลอม และการปราบปรามดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย โดยเน้นข่าวที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน 4 กลุ่มข่าว คือ (1) กลุ่มภัยพิบัติ (น้ำท่วม แผ่นดินไหว เขื่อนแตก สึนามิ ไฟไหม้) (2) กลุ่มเศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร / หุ้น (3) กลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง
รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น และ(4) กลุ่มนโยบายรัฐบาล /ข่าวสารทางราชการ/ความสงบเรียบร้อยของสังคม/ขัดต่อศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ
ส่วนทาง บมจ. ทีโอที ได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มอบหมายให้ดำเนินการ โดยมีภารกิจหลักคือการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ ซึ่งถูกเผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินและความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์และความมั่งคงภายในประเทศ พร้อมกับเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องสู่ประชาชนและสาธารณชน เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว
ในส่วนของกิจกรรมการสัมมนาในหัวข้อ “การสร้างการรับรู้ เพื่อรู้เท่าทันและรับมือกับข่าวปลอม” ประกอบด้วยการบรรยายช่วงที่ 1 เรื่อง “ข่าวปลอมและหลักการต่อต้าน: กรณีแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์” โดย รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล และช่วงที่ 2 เรื่อง “แนวทางการรับมือกับปัญข่าวปลอม บนสื่อสังคมออนไลน์” โดยนายศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ นอกจากนี้ยังมีช่วงที่ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีส่วนร่วมในการ พูดคุย ถาม-ตอบข้อสงสัย และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับวิทยากร และร่วมถ่ายภาพบรรยากาศในช่วงท้าย
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เตรียมแผนการดำเนินการสร้างการรับรู้เท่าทันข่าวปลอมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเติมความรู้โดยจะผลิตสื่อที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เช่น วิดีโอต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับ 4 กลุ่มข่าว สื่อไวรัลที่อยู่ในกระแสของสังคม
พัฒนาระบบในการใช้ตรวจสอบข่าวปลอมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามยุคสมัย
แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่
น้องจริงจ้า
ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ