กรมบัญชีกลางปรับค่ารักษาโควิด เบิกจ่ายได้ถึง 7,500 บาท/วัน เริ่ม 16 ส.ค.
กรมบัญชีกลาง เพิ่มเติมแนวปฏิบัติเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้มีสิทธิ-บุคคลในครอบครัวข้าราชการเสี่ยงหรือติดเชื้อโควิด ชี้ผู้ป่วยอาการรุนแรงเบิกจ่ายได้สูงสุด 7,500 บาท/วัน มีผลบังคับใช้ 16 ส.ค.นี้
รายงานข่าวจากกรมบัญชีกลาง ระบุว่า ปัจจุบันอัตราค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (Real Time RT – PCR) ปรับลดลงและมีการจำแนกประเภทของการตรวจเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการตรวจด้วยเทคนิคอื่น ๆ เพื่อทดสอบการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ยังมิได้กำหนดอัตราไว้ชัดเจน ทำให้สถานพยาบาลของทางราชการประสบปัญหาในทางปฏิบัติในการส่งเบิกค่ารักษาพยาบาล และโดยที่สถานการณ์ในภาพรวมมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอาการเล็กน้อย
กรมบัญชีกลางจึงได้หารือร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม
เกี่ยวกับการปรับหลักเกณฑ์ อัตรา วิธีการ และเงื่อนไข การเบิกค่ารักษาพยาบาลให้สอดคล้องกับการบริการ
และต้นทุนที่เกิดขึ้น เช่น การปรับอัตราคำชุดป้องกันส่วนบุคคลกรณีการดูแลผู้ป่วยอาการเล็กน้อย และการส่งข้อมูลการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดด้วยโรคอื่น ๆ ซึ่งสามารถขอใช้สิทธิเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลจาก สปสช. ได้
ดังนั้น เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 มาตรา 8 และมาตรา 14แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อธิบดีกรมบัญชีกลาง โดยได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
จึงเห็นสมควรกำหนดแนวปฏิบัติในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (เพิ่มเติม) โดยให้สถานพยาบาลของทางราชการ ถือปฏิบัติ ดังนี้
1.การตรวจยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี Real time RT – PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ (nasopharyngeal and throat swab sample) ประเภท 2 ยีน ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ส่วนการตรวจยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี Real time IT – PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ (nasopharyngeal and throat swab sample) ประเภท 3 ยีน ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,700 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ขณะที่การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธี Antigen test ด้วยเทคนิค Chromatography ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 450 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ด้านการตรวจการติดเชื้อด้วยวิธี Antigen test ด้วยเทคนิค Fluorescent Immunoassay (FIA) ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 540 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ทั้งนี้ การตรวจการติดเชื้อด้วยวิธีอื่น ๆ นอกเหนือจากการตรวจการติดเชื้อด้วยวิธี Antigen test ด้วยเทคนิค Chromatography และเทคนิค Fluorescent Immunoassay (FIA) ให้เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง
ไม่เกิน 540 บาท โดยรวมค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
2. การเบิกค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ตามข้อ 5 ของหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวติดเชื้อแต่อาการเล็กน้อย
ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาทต่อวัน
3. การเบิกค่าห้องพักสำหรับควบคุมหรือดูแลรักษาตามข้อ 5 ของหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
3.1.กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวติดเชื้อมีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน
3.2.กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวติดเชื้อมีอาการปานกลาง (สีเหลือง) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 3,000 บาทต่อวัน
3.3.กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวติดเชื้อมีอาการรุนแรง (สีแดง) ให้เบิกได้ในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 7,500 บาทต่อวัน
4. กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวต้องเข้ารับการผ่าตัดในสถานพยาบาลของทางราชการและมีความจำเป็นต้องตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนเข้ารับการผ่าตัดค่าตรวจคัดกรองกรณีดังกล่าว สถานพยาบาลของทางราชการสามารถขอเบิกเงินจาก สปสช. ได้ เนื่องจากรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณการตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 สำหรับประชาชนคนไทยทุกกลุ่มไว้แล้ว
และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้สถานพยาบาลของทางราชการไม่ต้องแยกทำธุรกรรมในการส่งเบิกค่าตรวจคัดกรองไปยัง สปสช. โดยตรงอีกหนึ่งธุรกรรม จึงอนุญาตให้สถานพยาบาลของทางราชการสามารถส่งค่าตรวจคัดกรองมาพร้อมกับการเบิกค่ารักษาพยาบาลรายการอื่น ๆ
สำหรับวิธีการส่งข้อมูลให้เป็นไปตามหน่วยงานที่กรมบัญชีกลางมอบหมายให้ทำหน้าที่รับส่งข้อมูลเป็นผู้กำหนดโดยที่กรมบัญชีกลางจะจัดส่งข้อมูลค่าตรวจคัดกรองให้ สปสช.
ใช้ประมวลผลการจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลของทางราชการโดยตรงต่อไป จึงขอให้งดการเรียกเก็บเงินค่าตรวจคัดกรองก่อนการผ่าตัดจากผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว ทั้งนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.64
แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่
น้องจริงจ้า
ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ