เทียบเท่าไฟเซอร์! จุฬาฯ เผยผลทดสอบ ChulaCov-19 วัคซีน mRNA สัญชาติไทย ตั้งเป้าผลิต เม.ย.65
รพ.จุฬาฯ เผยผลทดสอบ ChulaCov-19 วัคซีนโควิดชนิด mRNA สัญชาติไทย ในอาสาสมัครกลุ่มแรก พบกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงเทียบเท่ากับไฟเซอร์ เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม ป้องกันเชื้อตัวกลายพันธุ์ได้ดี ทั้งอัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา ทั้งยังจัดเก็บในตู้เย็นธรรมดาได้นานถึง 3 เดือน ตั้งเป้าผลิตใช้ได้ในเดือน เม.ย. 65
วันนี้ (16 ส.ค.) ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ร่วมกันแถลงข่าวผ่านระบบไลฟ์ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” ถึงความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ChulaCov-19 สำหรับป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกับวัคซีน Pfizer และ Moderna และถือเป็นวัคซีน mRNA สัญชาติไทยรุ่นเแรก
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า มีการทดลองฉีดวัคซีน ChulaCov-19 ในระยะที่ 1 กับอาสาสมัครจำนวน 36 คน อายุระหว่าง 18-55 ปี ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov-19 ครบ 2 เข็ม เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 64 และติดตามอาการครบ 50 วัน ส่วนอาสามัครกลุ่มที่ 2 ซึ่งมีอายุระหว่าง 56-75 ปี อีก 36 คน ส่วนใหญ่ได้ฉีดเข็มแรกไปแล้ว และต้องใช้เวลาในการติดตามผลการทดลองนานขึ้น หลังจากนั้นจะทดลองขั้นต่อไปในกลุ่มอาสาสมัครอีก 150 คน
สำหรับการทดลองในอาสาสมัครกลุ่มแรก พบว่า มีความปลอดภัยดี ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงใดๆ มีเพียงผลข้างเคียงในระดับเล็กน้อยหรือปานกลาง ซึ่งผู้มีอาการจะดีขึ้นภายใน 1-3 วัน
นอกจากนี้ ผลการตรวจภูมิคุ้มกันในอาสาสมัคร พบว่า ChulaCov-19
สามารถยับยั้งการจับโปรตีนที่ปุ่มหนามของไวรัส หรือการป้องกันไวรัสได้ถึง 94% เทียบกับวัคซีน Pfizer ป้องกันได้ 94% AstraZeneca 84% และ Sinovac 75%
เมื่อทดสอบภูมิคุ้มกันในเลือดในการป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ พบว่า ภูมิคุ้มกันของผู้ที่ฉีด ChulaCov-19 เข็มแรก 1 สัปดาห์นั้น ได้ภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับวัคซีน Pfizer ขณะผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็ม พบว่า ChulaCov-19 สามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ โดยสามารถป้องกันเชื้อดั้งเดิมได้มากที่สุด รองลงมาคือ สายพันธุ์อัลฟา, เบตา และแกมมา ตามลำดับ ส่วนสายพันธุ์เดลตาซึ่งเป็นสายพันธุ์ล่าสุดนั้นป้องกันได้ค่อนข้างดี ในภาพรวมแล้วสามารถป้องกันอาการของโรคได้กว่า 80% อีกทั้งยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิด ที-เซลล์ ซึ่งจะช่วยขจัดและควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของคนที่ติดเชื้อโควิดได้
นอกจากนี้ จุดเด่นของวัคซีน ChulaCov-19 คือ สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิในตู้เย็นธรรมดา คือ 2-8 องศาเซลเซียส ได้นานอย่างน้อย 3 เดือน และในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสนาน 14 วัน จึงไม่มีความยุ่งยากในการขนส่งและนำไปฉีด อีกทั้งวัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้อ แต่เป็นการสังเคราะห์ในหลอดทดลองใช้เวลาไม่เกิน 4 สัปดาห์ ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ และสามารถปรับแต่งวัคซีนต้นแบบตามพันธุกรรมของเชื้อกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท Bionet Asia เพื่อผลิตได้ทันที
สำหรับการทดลองวัคซีนในเฟสที่ 3 ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า อยู่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีกติกาออกมาอย่างไร คาดว่า เดือนหน้าจะทราบว่าการขึ้นทะเบียนวัคซีน ChulaCov-19 จะต้องผ่านด่านอะไรบ้าง ส่วนโรงงานผลิตไทยก็มีความพร้อมแล้ว ถ้าเป็นไปตามแผน คาดว่า
เดือนตุลาคมนี้วัคซีน ChulaCov-19 ที่ใช้ทดลองน่าจะผลิตในไทยทั้งหมด เพราะรุ่นที่ใช้ทดลองฉีดตอนนี้ผลิตในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า ถ้าประเทศไทยต้องการให้มีวัคซีนได้รับการรับรองให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินอย่างน้อย 1 ใน 4 วัคซีนที่เป็นยี่ห้อของคนไทยภายในเดือนเมษายน 2565 นั้น ต้องอาศัยองค์ประกอบ คือ ประเทศไทยต้องไม่บริหารแบบเดิม ต้องมีเป้าหมายร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องมีงบประมาณที่เพียงพอ รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและตัดสินใจได้ กติกาในการขึ้นทะเบียนวัคซีนของ อย. ต้องออกมาให้ชัดเจนภายในเดือนหน้าว่าการขึ้นทะเบียนนั้นต้องทำวิจัยระยะ 2B หรือระยะที่ 3 อย่างไรจึงจะเพียงพอ โรงงานผลิต ต้องเร่งดำเนินการให้สามารถผลิตวัคซีนคุณภาพจำนวนมากได้ ซึ่งข่าวดีคือเทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ในการผลิต mRNA เข้ามาในโรงงานแล้ว และประการสุดท้าย นโยบายการสั่งจองและจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้าต้องชัดเจน เพื่อให้ผู้ผลิตมีเงินก้อนไปซื้อวัตถุดิบ แต่ต้องยอมรับความเสี่ยงว่าวัคซีนนั้นอาจไม่สำเร็จก็ได้
ศ.นพ.เกียรติ กล่าวอีกว่า เป้าหมายของเรา คือ มีวัคซีนของคนไทยที่ปลอดภัยและใช้ได้ก่อนสงกรานต์ปี 2565 เบื้องต้นคืออยู่ที่กติกาของ อย.จะออกมาภายในเดือนหน้าอย่างไร ต้องวิจัยระยะ 2B แล้วไปเทียบกับวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยว่าเราใกล้เคียงหรือดีเท่า หรือดีกว่าได้หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น การวิจัยระยะ 2B ก็ใช้เงินน้อย ประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนอาสาสมัครน่าจะอยู่ที่ 500-600 ล้านบาท เราต้องเร่งหามา แต่ถ้าต้องทำวิจัยระยะที่ 3 กติกาต้องออกมาเร็วมาก ไม่อย่างนั้นการผลิตออกมาให้ทันเดือนเมษายน 2565 ก็จะยาก
แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่
น้องจริงจ้า
ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ