ข่าวบิดเบือน ทุบหอมแดง กระเทียม ใส่ถุงพลาสติกและสูดดม ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส
ตามที่ได้มีข่าวปรากฎในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ในประเด็นเรื่อง ทุบหอมแดง กระเทียม ใส่ถุงพลาสติกและสูดดม ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
จากที่มีการแนะนำวิธียับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส ลดโอกาสการฟักตัว ด้วยการนำหอมแดง กระเทียมทุบใส่ถุง และสูดดมวันละ 1-3 ครั้งนั้น ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า หอม กระเทียม แม้มีการใช้ตามภูมิปัญญาว่าช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกทำให้ทางเดินหายใจโล่ง และมีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ แต่วิธีการดังกล่าวยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สามารถยืนยันได้ว่าช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส ลดโอกาสการฟักตัว ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
โดยตำรายาไทยใช้ “หัวกระเทียม” แก้โรคในปาก แก้หวัดคัดจมูก กระเทียมมีน้ำมันหอมระเหย ประมาณ 0.1 – 0.4% มีองค์ประกอบหลัก คือ allicin ajoene alliin allyldisulfide diallyldisulfide จากการรวบรวมงานวิจัย พบว่า กระเทียมมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ส่วน “หอมแดง” ในตำรายาแผนโบราณใช้หัวแก่จัด ๆ กินแก้หวัด คัดจมูก แก้โรคปากคอ ฆ่าเชื้อโรค ใช้หัวตำสุมหัวเด็กแก้หวัด หัวหอมมีน้ำมันระเหยง่ายที่มีกำมะถัน diallyl disulphide เป็นองค์ประกอบ ซึ่งประชาชนสามารถนำหัวกระเทียม และหัวหอมแดง มาสูดดมเพื่อช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูกได้ เนื่องจากเป็นการดูแลสุขภาพเบื้องต้นตามภูมิปัญญา แต่ควรใช้วัสดุห่อที่เหมาะสม เช่น
ใช้ผ้าขาวบาง เป็นต้น
ดังนั้นข้อมูลและภาพที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน จึงขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่สามารถยืนยันได้ว่าวิธีดังกล่าวช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัส ลดโอกาสการฟักตัวได้ แต่สามารถนำหัวกระเทียม และหัวหอมแดง มาสูดดมเพื่อช่วยบรรเทาอาการหวัด คัดจมูกได้ เป็นการดูแลตนเองเบื้องต้น
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่
น้องจริงจ้า
ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ