ข่าวปลอม อย่าแชร์! ใบกระท่อม สามารถต้านโควิด-19 ได้
ตามที่ได้มีข่าวปรากฎในสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ในประเด็นเรื่อง ใบกระท่อม สามารถต้านโควิด-19 ได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากที่มีการแชร์ข้อมูลว่าใบกระท่อม สามารถต้านโควิด-19 ได้นั้น ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า แม้ปัจจุบันจะมีประกาศปลดล็อกกระท่อมจากยาเสพติด แต่สำหรับโรคโควิด-19 ซึ่งถือว่าเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรง และยังไม่พบรายงานการวิจัยของฤทธิ์ต้านเชื้อโควิด-19 ของใบกระท่อม ดังนั้นข่าวดังกล่าว ถือว่าเป็นข่าวที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้ จากการพบว่ามีการโฆษณาชวนเชื่อในสื่อออนไลน์โดยผู้ผลิตผลิณภัณฑ์จากกระท่อมว่าสามารถใช้ใบกระท่อมป้องกันหรือรักษาโรคโควิด-19 แต่มีจดหมายจาก US-FDA เตือนเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ไม่ได้รับการพิจารณาด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่แอบอ้างโฆษณาดังกล่าว
โดยกระท่อมมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mitragyna speciosa (Korth.) Havil. เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์เข็มและกาแฟ (Rubiaceae) ในสมัยโบราณ กระท่อมเป็นพืชที่ใช้เข้าเป็นตัวยาที่ใช้ทั้งในส่วนของการแพทย์แผนไทย และการแพทย์พื้นบ้าน ในตำรับพวกประเภทยาแก้ท้องเสีย แก้ปวด ท้องเสีย เบาหวาน และอื่นๆ เช่น ตำรับยาประสะกระท่อม ซึ่งกระท่อมมีปริมาณ total alkaloids ประมาณ 0.5 – 1.5% โดยพบ mitragynine ซึ่งเป็นสารกลุ่ม indole alkaloids เป็นสารสำคัญหลัก นอกจากนี้สารที่พบรองลงมา คือ flavonoids terpenoid และ saponins ซึ่งผลกระทบจากการบริโภคกระท่อมเป็นระยะเวลานาน ๆ
ทำให้เสพติดและจะมีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้ายตน และพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง จึงข้อเสนอแนะให้ประชาชนควรเชื่อถือข่าวสารที่ออกมาจากหน่วยงานทางราชการเท่านั้น
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th หรือโทร. 02 5917007
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยังไม่พบรายงานการวิจัยของฤทธิ์ต้านเชื้อโควิด-19 ของใบกระท่อม ดังนั้นข่าวดังกล่าว ถือว่าเป็นข่าวที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่
น้องจริงจ้า
ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ