ข่าวปลอม อย่าแชร์! วิธีไอบีบหัวใจ ช่วยแก้ไขอาการเจ็บหน้าอก กระตุ้นระบบหมุนเวียนของโลหิต ให้จังหวะเต้นของหัวใจเป็นปกติ

ข่าวปลอม อย่าแชร์! วิธีไอบีบหัวใจ ช่วยแก้ไขอาการเจ็บหน้าอก กระตุ้นระบบหมุนเวียนของโลหิต ให้จังหวะเต้นของหัวใจเป็นปกติ

Avatar
โดย น้องจริงจ้า | 21/07/2021

ตามที่มีข้อมูลแนะนำถึงประเด็นเรื่อง วิธีไอบีบหัวใจ ช่วยแก้ไขอาการเจ็บหน้าอก กระตุ้นระบบหมุนเวียนของโลหิต ให้จังหวะเต้นของหัวใจเป็นปกติ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ กรณีคำแนะนำถึงวิธีช่วยเหลือตัวเอง เมื่ออยู่คนเดียวแล้วรู้สึกปวดอย่างรุนแรงขึ้นมาอย่างเฉียบพลัน เริ่มที่หน้าอก สามารถช่วยตัวเองได้โดยไอแรงๆ และถี่ๆ ก่อนไอให้หายใจเข้ายาวๆ ลึกๆ แบบเดียวกับเวลาจะขากเสมหะ การหายใจเข้าแรงๆ สลับขากเสมหะต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกสองวินาทีจนกว่าจะมีคนมาช่วยหรือเมื่อรู้สึกว่าหัวใจเต้นเป็นปกติ ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า การไอทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความดันในช่องอกมีผลให้ความดันโลหิตเพิ่มได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ไม่สามารถบีบนวดหัวใจ หรือทดแทนการนวดหัวใจ (CPR) ได้ ดังนั้นการไอไม่สามารถช่วยแก้ไขอาการเจ็บหน้าอกหรือใช้เพื่อบีบหัวใจและช่วยกระตุ้นระบบหมุนเวียนของโลหิต และทดแทนการนวดหัวใจช่วยให้จังหวะเต้นของหัวใจเป็นปกติได้ การสูดหายใจลึกๆ สลับขากเสมหะมีผลกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติพาราชิมพาเทติก parasympathetic (vagalstimulation) เป็นผลให้อัตราการเต้นของหัวใจช้าลง และอาจช่วยรักษาภาวะหัวใจต้นเร็วผิดปกติที่เกิดจากบางสาเหตุได้ แต่ไม่สามารถนำมาใช้รักษาการเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงของหัวใจห้องล่างที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่ www.dms.go.th หรือโทร 02 5906000 บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การไอไม่สามารถช่วยแก้ไขอาการเจ็บหน้าอกหรือใช้เพื่อบีบหัวใจและช่วยกระตุ้นระบบหมุนเวียนของโลหิต และทดแทนการนวดหัวใจช่วยให้จังหวะเต้นของหัวใจเป็นปกติได้ การสูดหายใจลึกๆ สลับขากเสมหะก็ไม่สามารถนำมาใช้รักษาการเต้นผิดจังหวะชนิดร้ายแรงของหัวใจห้องล่างที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่

Avatar
น้องจริงจ้า

ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ


เลือกประเภทข่าวที่ต้องการโหวต :