ตอบทุกข้อสงสัย "วัคซีนโควิด" ผลข้างเคียง สร้างภูมิคุ้มกันหมู่
ช่วงนี้ความรุนแรงของ Covid-19 มากขึ้นๆ ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในไทย 9 พันกว่าคน นอกจากประชาชนป้องกันตัวเองแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนกำลังฝากความหวังไว้กับวัคซีน และดูเหมือนว่าเริ่มจะมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว
หลังล่าสุดมีข่าวดีต้อนรับปีใหม่ในปลายเดือน ก.พ. 64 นี้ ไทยจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 2 แสนโดสฉีดกับประชาชน 1 แสนคน ปลายเดือนมีนาคม อีก 8 แสนโดสสมาฉีดให้ประชาชน 4 แสนคน และปลายเดือนเมษายน อีก 1 ล้านโดสฉีดกับประชาชน 5 แสนคน รวมทั้งหมดเป็น 2 ล้านโดส จากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ประเทศจีน ด้วยงบประมาณของรัฐ
รวมถึงกลางปี 64 จะมีวัคซีนที่ไทยสั่งจองเพิ่มจากบริษัท แอสตราเซนเนกา อีก 26 ล้านโดส พร้อมกันนั้นจะดำเนินการตามข้อตกลงกับ แอสตราเซนเนกา ที่จะผลิตวัคซีนในไทยเองร่วมกับบริษัท สยามไบโอไซด์ ให้ได้ปีละ 200 ล้านโดส ซึ่งจะเพียงพอทั้งประเทศ
ทั้งสองวัคซีนจากทั้งสองบริษัทจะช่วยปกป้องคนไทยได้ประสิทธิภาพมากน้อยอย่างไร และวัคซีนทั้งสองที่ได้มามีความแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบจาก นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และรองประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อคนไทย
: คุณลักษณะพิเศษจำเพาะ วัคซีน 2 ชนิด ไทยสั่งซื้อ :
เป็นที่ทราบกันว่าขณะนี้ทั่วโลกมีวัคซีนโควิด 19 จำนวน 4 ชนิดที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน (EUA) แล้วจากผู้ผลิต 9 ราย ซึ่งทั้ง 4 วัคซีนมีลักษณะดังนี้
1. วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอเอ็นวัคซีน (mRNA) ซึ่งได้จากสารพันธุกรรมชนิดอาร์เอ็นเอจากเชื้อไวรัส
เมื่อคนได้รับวัคซีนเข้าสู่ร่างกายจะกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้
2. วัคซีนชนิด Viral Vector เป็นการใช้ไวรัสที่ทำให้อ่อนลงแล้วไม่ทำให้เกิดโรค มาตัดต่อใส่สารพันธุกรรมของ coronavirus เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ยกตัวอย่างวัคซีนที่ใช้วิธีนี้ เช่น วัคซีนอีโบล่า
3. วัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) คือใช้เชื้อโรคทั้งตัวที่ตายแล้วหรือเฉพาะส่วนประกอบบางส่วนของเชื้อโรค
4. วัคซีนโปรตีนซับยูนิต (subunit protein) เป็นการใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อ เพื่อไปกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน
สำหรับวัคซีนที่ตกลงทำสัญญาซื้อกับบริษัท แอสตราเซเนกานั้นเป็นวัคซีนชนิด Viral Vector ส่วนวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค ที่จะได้รับลอตแรกปลายเดือน ก.พ. นั้น เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine)
: กว่า 10 แห่ง เริ่มผลิตวัคซีนโควิด-19 โดยฝีมือคนไทย 100% :
กับข้อสงสัยของประชาชนว่าวัคซีนลอตแรกของจีนที่จะได้รับลอตแรกปลายเดือน ก.พ. 64 ประสิทธิภาพดีอย่างไรนั้น นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ให้ข้อมูลว่า แม้วัคซีนกำลังจะประกาศการทดลองเฟส 3 กลางเดือน ม.ค. แต่จากข้อมูลทางเอกสารวัคซีนซึ่งใช้ประกอบพิจาณาการสั่งซื้อ และหลายประเทศในตะวันออกกลาง เช่น อินโดนีเซียได้สั่งซื้อวัคซีนไปฉีดแล้ว ผลปรากฏว่ามีประสิทธิผลมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ และหากมาฉีดกับคนไทยก็คงได้ผลในระดับเดียวกัน
สำหรับวัคซีนที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทย 100% ตอนนี้มีกว่า 10 แห่งที่ช่วยกันพัฒนา แต่ที่เห็นความก้าวหน้ามากที่สุด คือวัคซีนชนิด mRNA ของทีม ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นลักษณะเดียวกับของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ที่มีการขึ้นทะเบียน และจะเริ่มเฟส 1 ในคน กลางปี 64
ส่วนงานวิจัยของ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ก่อตั้งโดยนักวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ โดยเร่งผลิตวัคซีนโควิด-19 จากใบพืช ทดลองในลิง หนู แล้ว และเตรียมทดสอบในมนุษย์ คาดการณ์ กลางปี 64 ทั้งนี้ในรายอื่นๆ ยังคิดค้น พัฒนาอยู่ในหลอดทดลอง
สำหรับบริษัท สยาม ไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากแอสตราเซเนกา มาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ขณะนี้อยู่ในขั้นทดสอบการผลิต ตั้งเป้าให้มีกำลังการผลิตปีละ 200 ล้านโดส หรือเดือนละ 15-20 ล้านโดส โดยจะมีการทดสอบการผลิต 5 รอบ
รอบแรกผลิตไปแล้วเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 ขณะนี้กำลังผลิตรอบ 2 หากผลิตครบ 5 รอบจะนำไปยื่นขอขึ้นทะเบียนกับ อย.จากนั้น จะทยอยส่งมอบลอตแรกในเดือนพฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ประสิทธิภาพของวัคซีน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ คาดว่าคงได้ผลน่าพอใจ เนื่องจากแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ที่ไทยจองซื้อได้รับอนุมัติทะเบียนให้ใช้วัคซีนในกรณีฉุกเฉินจากหน่วยงานควบคุมกำกับของอังกฤษแล้ว เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563
: ฉีดวัคซีนโควิด 2 โดสเท่านั้น แจงเหตุผลหลังฉีดแล้วเสียชีวิต :
ที่ผ่านมาหลังหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีน มีการถกเถียงว่า หากเปลี่ยนวิธีการฉีดจาก 2 โดส เหลือ 1 โดสอาจช่วยป้องกันคนติดโควิดน้อยลง ซึ่งข้อสงสัยนี้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ย้ำเสียงหนักแน่นว่า อย่างไรก็ตามต้องฉีดวัคซีน 2 โดสต่อ 1 คนเท่านั้น โดยฉีดปริมาณ 1 CC -2 CC ต่อครั้ง
โดยฉีดวัคซีนโควิดเข็มแรก เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา 60-70 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นอีก 3 หรือ 4 สัปดาห์
จึงฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่สองเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้หลังฉีดวัคซีนโควิดใน บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ไข้ เจ็บป่วย หรือผลขั้นร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น เสียชีวิต ดังที่เป็นข่าวกรณีผู้สูงอายุ 2 รายในนอร์เวย์เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิต นพ.ศุภกิจ ให้ความเห็นว่า
“คนที่แพ้วัคซีนโควิด ผลข้างเคียงต่างๆ เกิดจากการแพ้ส่วนประกอบบางชนิดในวัคซีน ซึ่งอาจพบได้เพียง 1 ในล้านที่อาจช็อกตาย ซึ่งแม้มีวัคซีนมาแล้ว ทุกคนก็ยังมีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ต้องเรียนรู้และพัฒนาวัคซีนกันไปจนกว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้”
: หลังมีวัคซีนโควิด คนไทยต้องการ์ดไม่ตก 1-2 ปี :
สำหรับเป้าหมายในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนไทยคือ 50 เปอร์เซ็นต์ในปี 2564 นั้น นพ.ศุภกิจ บอกเป็นการกำหนด ไว้เบื้องต้นเพื่อดูการบริหารจัดการ แต่จะต้องฉีดวัคซีนให้คนไทยกี่ล้านคนถึงจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้นั้น นพ.ศุภกิจ เปิดเผยว่า การฉีดวัคซีนโควิดได้ในระดับ 50 เปอร์เซ็นต์นั้นความจริงยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องพิจารณาในกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เนื่องจากวัคซีนหายาก ทั่วโลกมีความต้องการสูง
หลังจากนั้นหากวัคซีนมีจำนวนมาก จัดหาได้ง่าย ก็อาจฉีดได้มากเกินครึ่งของจำนวนประชากรไทย และฉีดวัคซีนโควิดให้ได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แม้มีวัคซีนโควิดแล้ว คนไทยก็ยังต้องตั้งการ์ดดูแลตัวเองต่อไปอีกประมาณ 1-2 ปี
“ในโลกนี้ยังไม่มี ‘วัคซีน’ ชนิดใดที่มีประสิทธิผล 100%
คนไทยต้องอดใจรอ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดโรคใหม่ การที่จะผลิตวัคซีนออกมาต้องใช้ระยะเวลานาน และต้องศึกษาอย่างละเอียดมาก วัคซีนไม่ใช่ยาวิเศษ เพราะฉะนั้นวิธีที่เราทำได้ดีที่สุดตอนนี้ คือการป้องกันตนเองลดการแพร่เชื้อ ด้วยการใส่หน้ากากเข้าหากัน ล้างมือ รักษาระยะห่าง ระหว่างที่รอการผลิตวัคซีน คาดการณ์ว่าต้นปี 65 จะพยายามฉีดวัคซีนให้คนไทยครบ 80-90 เปอร์เซ็นต์” นพ.ศุภกิจ กล่าว
แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่
น้องจริงจ้า
ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ