WHO จับมือ ขายหัวเราะ เขียน “การ์ตูนให้ความรู้โควิด-19”
ผู้จัดทำโครงการการ์ตูนความรู้เรื่องโควิด-19 เผยผลตอบรับน่าพอใจ จะต่อยอดเป็นสื่อภาพเคลื่อนไหวและสื่อสำหรับแรงงานต่างด้าวต่อไป เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ลดการแพร่ระบาดของโควิด-19
WHO จับมือ ขายหัวเราะ เขียน “การ์ตูนให้ความรู้โควิด-19”
จากกรณีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเทศไทย ร่วมกับ ขายหัวเราะ และกลุ่ม KnowCovid โดย ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดทำการ์ตูนความรู้เรื่องโควิด-19 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ นั้น ทางนิวมีเดีย พีพีทีวี เอชดี 36 ได้มีโอกาสโทรศัพท์สัมภาษณ์ ดร.อิสระ ได้รับการเปิดเผยว่า เบื้องต้น เนื้อหาของการ์ตูนชุดแรกนี้ เกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ผิด 12 ประการเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 โดยอ้างอิงจากข้อมูลทางวิชาการล่าสุด ซึ่งโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อป้องกันการสื่อสารข้อมูลที่ผิดในสังคม อันจะนำไปสู่การป้องกันที่ไม่รัดกุม หรือเกิดพฤติกรรมเสี่ยง
เพราะในช่วงการระบาดนี้คนพูดถึงข้อมูลกันเยอะ แต่จะแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือกลุ่มที่ไม่รู้ไม่ทราบข้อมูลจริง แต่พูดทุกวัน กับอีกกลุ่มที่มีข้อมูลถูกต้อง แต่พูดแล้วคนไม่เข้าใจหรือไปไม่ถึง เราจึงทำโครงการ “KnowCovid รู้ทันโควิด” นำข้อมูลที่ถูกต้องมาสื่อสารในรูปแบบที่เข้าใจง่าย โดยเราเริ่มจาก “ความเข้าใจผิด 12 ประการ” เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ช่วยป้องกันโควิด-19 หรือประเด็นที่ว่า ถ้ายุงกัดผู้ติดเชื้อแล้วมากัดเราต่อ เราจะติดโควิด-19 เหล่านี้เป็นเรื่องที่คนไทยหลายคนเข้าใจผิด ดังนั้นโครงการนี้จึงมี 3 วัตถุประสงค์ คือ
เพื่อแก้ไขความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับโควิด-19
ให้ถูกต้อง
เสนอเป็นการ์ตูนเพื่อกระตุ้นให้คนศึกษาข้อมูล รวมถึงได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์กับทั้งตัวเองและครอบครัว
ช่วยฟื้นฟูจิตใจ ให้คลายเครียดลงได้บ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าว ทำให้ ดร.อิสระ ติดต่อกับองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนข้อมูลที่ถูกต้อง สำหรับนำมาย่อยข้อมูลออกมาเป็นการ์ตูนซึ่งเขามองว่าเป็นสื่อที่เข้าใจง่าย เข้าถึงคนหลายกลุ่ม และเนื่องจากไม่ต้องการให้เป็นการ์ตูนที่มีแต่เด็กอ่าน จึงติดต่อไปยังหนังสือการ์ตูน ขายหัวเราะ ของบันลือสาส์น ซึ่งมีฐานผู้อ่านทุกเพศทุกวัย จากนั้นจัดการประชุมร่วมกันที่รัฐสภา
“พอผมบอกไอเดียไป ปรากฏว่าทุกฝ่ายเห็นตรงกัน จึงสร้างสรรค์ออกมาเป็นชุดข้อมูลที่เห็น โดยขายหัวเราะถนัดการสื่อสาร ก็ให้ขายหัวเราะเป็นคนสื่อสารข้อมูล แล้วโพสต์ลงบนโลกออนไลน์ เกิดการไลก์การแชร์เป็นแสนเป็นหมื่น รวมถึงได้รับความสนใจจากเพจชื่อดังต่าง ๆ ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ในโลกออนไลน์ เราก็ได้รับฟีดแบ็กดี ๆ กลับมาว่า เป็นข้อมูลที่ประชาชนเขาสงสัยอยู่แล้ว แล้วก็ดูง่าย เข้าใจได้ง่ายด้วย” ดร.อิสระกล่าว
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังไม่สิ้นสุด แต่กำลังพูดคุยในระดับที่ใหญ่ขึ้น เพื่อขยายการเข้าถึงข้อมูล โดยภายในเร็ววันนี้น่าจะได้ข้อสรุป เบื้องต้นสนใจทำออกมาในแบบรูปเล่มและออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงสังคมวงกว้างมากขึ้น และจะพยายามทำให้สำเร็จในเดือนเมษายนนี้โดยการต่อยอดโครงการจัดทำการ์ตูนความรู้เรื่องโควิด-19 จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก ทำเป็น "ภาพเคลื่อนไหว" เผยแพร่ตามช่องทางต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ โซเชียลมีเดีย และบิลบอร์ด
ป้ายโฆษณา ในจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะกทม. ให้ประชาชนได้เห็นข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น
ส่วนที่สอง "การทำสื่อสำหรับแรงงานต่างด้าวในไทย" เพราะนอกจากคนไทยแล้ว ยังมีแรงงานต่างด้าวที่เขาอยู่ไทยจนเป็นเหมือนบ้าน เราจะพยายามแปลภาษาให้สำเร็จ เช่น ภาษาเมียนมา ภาษากัมพูชา ให้พวกเขาซึ่งได้รับผลกระทบเหมือนกันได้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยแรงงานต่างด้าวในไทยทั้งในระบบและนอกระบบนั้นอยู่ที่หลักล้าน ปัญหาคือเราไม่ทราบว่าพวกเขารับข้อมูลทางไหนบ้าง อาจจะมาจากนายจ้าง และโซเชียลมีเดีย แต่เขาอาจไม่สามารถเข้าใจภาษาไทยตามสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วไปได้ ส่วนนี้จะได้ข้อสรุปแผนการดำเนินงานออกมาภายในสัปดาห์หน้า แต่เบื้องต้นไม่มีอุปสรรคใด ๆ และทุกอย่างกำลังดำเนินไปตามขั้นตอน "การสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ให้สังคมวงกว้างรับรู้เป็นแนวทางการจัดการปัญหาที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง เพราะนำไปสู่การปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ช่วยลดปัญหาการแพร่เชื้อ ซึ่งจะเป็นการลดภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก เพราะข้อมูลที่ถูกต้องนั้นถือเป็นอาวุธชั้นดีในการป้องกันการแพร่ระบาด ขณะที่ข้อมูลที่ผิด ก็เป็นเครื่องมือที่จะทำให้โรคมันกระจายเร็วขึ้น" ดร.อิสระเน้นย้ำ
โครงการการ์ตูนความรู้เรื่องโควิด-19 เป็นส่วนหนึ่งของหลาย ๆ โครงการที่ ดร.อิสระ และทีมงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงาน หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจัดทำโครงการ Minimask หน้ากากเพื่อเด็ก ซึ่งมีคนเข้ามาตอบรับเข้าร่วมและให้ความสนใจเป็นจำนวนมากเช่นกัน
โครงการ MiniMask หน้ากากเพื่อเด็ก
เริ่มส่งมอบหน้ากากอนามัยชุดแรก
“INCOMM” จัดแคมเปญ “Free PR สู้โควิด-19”
สำหรับช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2563 นี้ ดร.อิสระกล่าวว่า วิธีที่จะหยุดเชื้อไม่ให้แพร่กระจาย คือการสร้างระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และวิธีสร้างระยะห่างดังกล่าวที่ดี คือ อยู่บ้าน เคลื่อนย้ายเท่าที่จำเป็น “ช่วงสงกรานต์ก็น่าเห็นใจ ยิ่งคนที่ไม่ได้ทำงานในภูมิลำเนา แต่เราอาจจะต้องกลั้นใจผ่านตรงนี้ไปให้ได้ ลดการเคลื่อนย้ายมากที่สุด ให้เรื่องนี้จบเร็ว ๆ ประเทศไทยจะได้ไปสู่ขั้นตอนการฟื้นฟูเยียวยาต่อไป”
ด้านขายหัวเราะก็มีการสื่อสารผ่านเพจเฟซบุ๊ก สนับสนุนให้ทุกคนอยู่ที่บ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้เช่นกัน
แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่
น้องจริงจ้า
ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ