สธ.จับมือ ม.อ็อกซฟอร์ด ผลิตวัคซีนโควิด-19 ชาติแรกในอาเซียน
วันนี้ (13 ต.ค.63) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่แอสตร้าเซนเนก้า ได้เลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตของโลกผ่าน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ โดยได้การลงนามข้อตกลงในหนังสือแสดงเจตจำนงในการพัฒนาและผลิตวัคซีน โดยรัฐบาลไทยยังสนับสนุนการกระจายวัคซีนวิจัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ทั้งภูมิภาคกลับมาเป็นปกติได้โดยเร็ว
ทั้งนี้ ในการผลิต บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งมีศูนย์การผลิตที่มีเครื่องจักรที่เป็นเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับผลิตยารักษาโรคมะเร็งและโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เครื่องจักรดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้ผลิตวัคซีนวิจัย AZD1222 เพื่อป้องกันโควิด-19 จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด และแอสตร้าเซนเนก้า โดยหลังจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอสตร้าเซนเนก้ารวมทั้งขั้นตอนการขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คาดว่าวัคซีนชุดแรกจะพร้อมใช้ในกลางปีหน้า ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนดังกล่าวได้สำเร็จเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ส่วนความคืบหน้าของการผลิตวัคซีน โควิด-19 ของบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย นายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับ อย.ของออสเตรเลียร เพื่อทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด DNA ระยะที่1 ในออสเตเลียหาก สามารถทดลองระยะที่1ได้สำเร็จสามารถมาเริ่มทดลองระยะที่ 2 ในไทยได้เลย
ขณะที่ ความคืบหน้าการเปิดประเทศท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยว่า
มีแนวคิดในการกักกันโรครูปแบบใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย เพราะกรณีเข้ามาระยะสั้นและต้องกักตัวอีก 14 วัน อาจทำให้เหลือเวลาท่องเที่ยวไม่มาก จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อเป็นการควบคุมโรคพร้อมทั้งได้ท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย และยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ
สบส.จึงมีแนวคิดในการจัดทำระบบกักกันตัวร่วมกับการท่องเที่ยวแบบกำหนดพื้นที่เฉพาะ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยแทนที่จะกักตัว 14 วันอยู่ในห้องพัก ก็จะสามารถเดินทางท่องเที่ยวตามแพคเกจที่เรากำหนด เช่น สถานที่เที่ยวที่เปิดโล่ง สถานที่เที่ยวความเสี่ยงน้อย เป็นต้น
ทั้งนี้การท่องเที่ยวลักษณะนี้จะกำหนดพื้นที่ตายตัวว่าจะไปเส้นทางไหนได้บ้าง ซึ่งจะต้องมีระบบติดตามตัว (Tracking) เป็นเครื่องมือไม่ให้ออกนอกเส้นทาง และมีเจ้าหน้าที่ควบคุมตลอดเส้นทางการเดินทาง ซึ่งได้มีการหารือกับจังหวัดที่มีความพร้อม และเป็นจังหวัดท่องเที่ยวหลัก อาทิ ชลบุรี ภูเก็ต ระยอง เชียงใหม่ เชียงราย บุรีรัมย์ และสุราษฎร์ธานี
แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่
น้องจริงจ้า
ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ