โลกเฮ! ใกล้ได้วีคซีนโควิด-19 กว่า20แห่งอยู่ในขั้นตอนทดลองทางคลินิก
วันนี้ (21ก.ค.63) องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ขณะที่มีการพัฒนาวัคซีนอยู่ราว 160 แห่ง และในจำนวนนั้นมี 23 แห่งที่อยู่ในขั้นตอนการทดลองทางคลินิกแล้ว ซึ่งออกซ์ฟอร์ดเป็นหนึ่งในนั้น และผลการทดลองที่ประกาศมาล่าสุด ทำให้ขยับเข้าใกล้การได้วัคซีนมากขึ้นแล้ว แต่ทุกชาติจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้หรือไม่
วัคซีนที่กำลังเป็นดาวรุ่งนี้พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และมีบริษัท AstraZeneca บริษัทสัญชาติอังกฤษ เป็นผู้ได้สิทธิ์ในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายแต่จะมีชาติไหนที่ได้วัคซีนก่อนอีกบ้างนั้น
1.อังกฤษ
อังกฤษก็มีข้อตกลงกับ AstraZeneca ที่ต้องจัดส่งวัคซีนให้จำนวน 100 ล้านโดส บริษัท AstraZeneca เคยประกาศว่า จะสามารถส่งวัคซีนเหล่านี้ให้อังกฤษได้อย่างเร็วสุดต้นเดือนกันยายนนี้อย่างน้อย 30 ล้านโดสแรก
นอกจากวัคซีนของออกซ์ฟอร์ดแล้ว รัฐบาลอังกฤษยังได้ลงนามในข้อตกลงหลายฉบับ เพื่อซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 อีก 90 ล้านโดส จาก Pfizer Inc, BioNTech และ Valneva ทำให้เมื่อรวมข้อตกลงทั้งหมด และหากทุกบริษัทสามารถผลิตวัคซีนได้สำเร็จ อังกฤษจะมีวัคซีนต้านโควิด-19 ถึง 190 ล้านโดส โดยที่อังกฤษมีประชากรราว 66 ล้านคน ประธานของ UK Vaccine Taskforce ระบุกับบีบีซีว่า นี่เป็นการลงทุนที่ยังไม่รู้ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่อังกฤษลงทุนไปก่อน เพราะเชื่อว่าจำเป็นต้องใช้วัคซีนหลายประเภทกับกลุ่มคนที่แตกต่างกัน
2.สหรัฐฯ
AstraZeneca ได้รับเงินอุดหนุนการทำวิจัยจากสหรัฐฯ มูลค่า1.2 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3.8 หมื่นล้านบาท และมีข้อตกลงว่าส่งมอบวัคซีน 300 ล้านโดส โดยจะเริ่มส่งวัคซีนล็อตแรกให้สหรัฐฯต้นเดือนตุลาคม
ข้อตกลงระหว่างสหรัฐและ AstraZeneca เป็นข้อตกลงฉบับที่ 4 ที่ทำกับบริษัทผลิตยา
และถือว่าเป็นข้อตกลงที่ใหญ่ที่สุดที่สหรัฐฯให้การสนับสนุน
3.สหภาพยุโรป
เว็บไซต์ของ AstraZeneca ได้ประกาศเมื่อเดือนที่ผ่านมาว่า บรรลุข้อตกลงกับพันธมิตรวัคซีนที่ทั่วถึงหรือ Inclusive Vaccines Alliance (IVA) ของยุโรป ซึ่งมีสมาชิกคือเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และเนเธอร์แลนด์ เพื่อส่งมอบวัคซีนมากถึง 400 ล้านโดส โดยจะเริ่มทยอยส่งมอบในช่วงปลายปีนี้
บริษัทให้คำมั่นว่า จะเร่งผลิตวัคซีน และทำให้เข้าถึงได้ในทุกชาติของยุโรปที่เข้าร่วมในพันธมิตรดังกล่าว และประกาศว่าพร้อมจะสร้างซัพพลายเชนทั่วโลก และร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ เพื่อให้ผู้คนได้เข้าถึงวัคซีน โดยไม่แสวงหาผลกำไรในช่วงสถานการณ์ระบาดนี้
4.รัสเซีย
ประธานกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซีย เปิดเผยข้อมูลว่า รัฐบาลรัสเซียไม่แฮกข้อมูลการวิจัยวัคซีนของอังกฤษแน่นอน เพราะรัฐบาลรัสเซียได้ทำข้อตกลงกับบริษัท AstraZeneca ไปแล้ว โดยจะเป็นการผลิตวัคซีนของออกซ์ฟอร์ดในรัสเซีย ผ่านบริษัท R-Pharm ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและได้มีการลงนามกันไปแล้ว ในขณะเดียวกัน แม้จะมีวัคซีนของออกซ์ฟอร์ด แต่รัสเซียยังคงเดินหน้าพัฒนาวัคซีนของตนเองอยู่ควบคู่กันไป
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ารัฐบาลบราซิลกำลังเจรจาทำข้อตกลงกับ AstraZeneca เพื่อจัดส่งวัคซีน 100 ล้านโดส และจะมีการส่งมอบปลายปีนี้ หากเจรจากันสำเร็จ
จากกรณีการทำข้อตกลงกับชาติยักษ์ใหญ่เหล่านี้ ทำให้เกิดความกังวลเรื่อง Vaccine nationalism หรือลัทธิชาตินิยมด้านวัคซีน ซึ่งเป็นการแข่งขันของประเทศต่างๆ ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อให้ประเทศของตนได้ก่อนใคร และจะทำให้ประเทศที่ร่ำรวยได้วัคซีนไปก่อนและทำให้ประเทศที่ยากจนกว่าต้องถูกทอดทิ้ง
อย่างไรก็ตาม AstraZeneca
ได้ประกาศตั้งเป้าผลิตวัคซีน 2000 ล้านโดส โดยสหรัฐฯและอังกฤษเอาไป 400 ล้านโดส ส่วนอีก 1000 ล้านโดสนั้นบริษัทจะผลิตเพื่อประเทศที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ซึ่งในส่วนดังกล่าวได้มีการลงนามกับ Serum Institute of India ในการร่วมผลิต และจะสามารถเริ่มส่งมอบล็อตแรกได้ราว 400 ล้านโดสในช่วงปลายปีนี้
สำหรับวัคซีนของ AstraZeneca นั้นต้องใช้สองโดสต่อคน จึงทำให้เริ่มมีความกังวลว่าวัคซีนที่จะผลิตออกมานั้นจะเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเป็นความท้าทายทั้งในแง่ของการผลิตและการขนส่ง
ความก้าวหน้าของบริษัท/หน่วยงานต่างๆในการพัฒนาวัคซีน (จาก 163 เจ้า)
140 pre-clinical trials (การทดลองก่อนการทดสอบในมนุษย์)
10 phase one small scale safety trials (เฟสหนึ่ง ทดลองความปลอดภัยกลุ่มเล็ก)
10 phase two expanded safety trials (เฟสสอง ทดลองความปลอดภัยในกลุ่มที่ขยายขึ้น)
3 phase three wider testing and effectiveness assessed (เหสสาม ทดลองในวงกว้าง)
ขั้นตอนต่อจากนี้ของออกซ์ฟอร์ดคือ การทดลองในมนุษย์ที่มากขึ้น หรือเฟสสาม ในอังกฤษมากกว่า 10,000 คน และขยายไปต่างประเทศด้วยเช่น ที่สหรัฐฯ 30,000 คน / แอฟริกาใต้ 2,000 คน และอีก 5,000 คนในบราซิล และมีการทดลองแบบท้าทาย ที่จะให้ผู้ได้รับวัคซีน ติดเชื้อไวรัสโคโรนา
สำนักข่าวบีบีซีระบุว่า คาดว่าจะมีการอนุมัติวัคซีนได้ภายในปีนี้ แต่การแจกจ่ายในวงกว้างอาจยังทำไม่ได้ โดยสำหรับอังกฤษ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จะเป็นผู้ได้รับวัคซีนก่อน รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงด้วยวัยหรืออาการป่วยอื่นๆ หลังจากนั้นจึงเป็นบุคคลทั่วไป
ทั้งนี้ ออกซ์ฟอร์ดไม่ใช่รายเดียวที่กำลังก้าวสู่เฟสที่สาม ก่อนหน้านี้ มี Moderna จากสหรัฐฯ รวมไปถึง BioNtech ของเยอรมนี และ Pfizer ของสหรัฐฯ ในขณะที่จีนก็พัฒนาวัคซีนคล้ายๆกับออกซ์ฟอร์ด และได้ผลดีเช่นกัน
แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่
น้องจริงจ้า
ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ