ข่าวปลอม อย่าแชร์! ❌ คลิปเสียงหมอศิริราช แนะให้กินยาเขียว เพื่อรักษาโควิด-19
ตามที่ได้มีข่าวปรากฎในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเด็นเรื่อง คลิปเสียงหมอศิริราช แนะให้กินยาเขียว เพื่อรักษาโควิด-19 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
.
กรณีการส่งต่อคลิปเสียงโดยระบุว่าเป็นเสียงของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ที่กล่าวถึงการรักษาโควิด-19 โดยให้รับประทานยาเขียวเพื่อทำให้เกิดความร้อนในร่างกาย เมื่อร่างกายเกิดความร้อนก็จะมีการขับเหงื่อและปัสสาวะออกมาซึ่งเชื้อไวรัส จะออกมาด้วยกับเหงื่อและน้ำปัสสาวะ อุจจาระนั้น ทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ชี้แจงว่า เสียงดังกล่าวไม่ใช่เสียงของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
.
และข่าวนี้เป็นข่าวเก่าที่เคยมีการส่งต่อแล้ว ซึ่งการใช้ยาเขียวในการรักษาโรคเป็นองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์แผนไทยที่ใช้กระทุ้งไข้ หัด อีสุกอีใส อีกทั้งยาเขียวยี่ห้อดังกล่าวไม่มีการบอกสูตรยาที่แน่นอน และยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าสามารถใช้รักษาโรค โควิด-19 ได้
.
โดยยาเขียวเป็นตำรับยาไทย ตามองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้าน ที่มีการใช้กันมานานหลายทศวรรษ และเป็นตำรับที่ยังมีการผลิตขายทั่วไปตราบจนปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปในสมัยก่อนจะรู้จักวิธีการใช้ยาเขียวเป็นอย่างดี กล่าวคือ มักใช้ยาเขียวในเด็กที่เป็นไข้ออกผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส เพื่อกระทุ้งให้พิษไข้ออกมา เป็นผื่นเพิ่มขึ้น และหายได้เร็ว ซึ่งยาเขียวจัดเป็นยาเย็น ทำให้ตำรับยาเขียวส่วนใหญ่มีสรรพคุณ ดับความร้อนของเลือดที่เป็นพิษ
ซึ่งพิษในที่นี้หมายถึงของเสียหรือความร้อนที่อยู่ภายในร่างกายเท่านั้น
.
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หากต้องการรับรู้ข่าวสารเพิ่มเติม จากข่าวประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.si.mahidol.ac.th หรือโทร. 02 4197646 ต่อ 50
.
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : เสียงดังกล่าวไม่ใช่เสียงของคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราช และปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผลและความปลอดภัยในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ดังนั้น จึงยังไม่สามารถกล่าวได้ว่าการกินยาเขียว สามารถใช้รักษาโรค โควิด-19 ได้
แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่
น้องจริงจ้า
ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ