หักล้างข่าวลือเกี่ยวกับวัคซีนโควิดทั้งการฝังไมโครชิปและ “เปลี่ยนดีเอ็นเอ” ในคน

หักล้างข่าวลือเกี่ยวกับวัคซีนโควิดทั้งการฝังไมโครชิปและ “เปลี่ยนดีเอ็นเอ” ในคน

Avatar
โดย น้องจริงจ้า | 7/12/2020

ราได้ตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ถูกส่งต่อกันมากที่สุดบางส่วน ตั้งแต่ข้ออ้างที่ว่ามีการวางแผนในการฝังไมโครชิปลงในคน ไปจนถึงการดัดแปลงรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ ข้อกล่าวหา "เปลี่ยนดีเอ็นเอ" ความกังวลที่ว่า วัคซีนจะเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของคุณด้วยวิธีการบางอย่าง เป็นหนึ่งในข้ออ้างที่เราพบเห็นทางโซเชียลมีเดียมากที่สุด บีบีซี ได้สอบถามนักวิทยาศาสตร์อิสระ 3 คน เกี่ยวกับเรื่องนี้ พวกเขาบอกว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะไม่เปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอของมนุษย์ วัคซีนที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่บางส่วน รวมถึงวัคซีนที่ได้รับการรับรองในสหราชอาณาจักร ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNTech) ได้ใช้เศษชิ้นส่วนสารพันธุกรรมของไวรัส หรือที่เรียกว่า เมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ (messenger RNA—mRNA) "การฉีดอาร์เอ็นเอเข้าไปในคนไม่ได้ส่งผลอะไรต่อดีเอ็นเอของเซลล์มนุษย์" ศาสตราจารย์เจฟฟรีย์ อัลมอนด์ จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าว มันทำงานด้วยการสั่งให้ร่างกายมนุษย์ผลิตโปรตีนที่อยู่บนไวรัสโคโรนา จากนั้นระบบภูมิคุ้มกันก็จะจดจำและผลิตสารแอนติบอดีต่อต้านโปรตีนนี้ขึ้นมา นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราตรวจสอบข้อกล่าวอ้างที่เชื่อว่า วัคซีนป้องกันโควิดจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอขึ้น เราเคยตรวจสอบวิดีโอยอดนิยมชิ้นหนึ่งที่ส่งต่อข้ออ้างนี้ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ข้อความในโพสต์ต่าง ๆ ระบุว่า เทคโนโลยีวัคซีน mRNA "ไม่เคยได้รับการทดสอบหรือรับรองมาก่อน" เป็นความจริงที่ว่า ก่อนหน้านี้วัคซีน mRNA ไม่เคยได้รับการรับรองมาก่อน แต่ได้มีการศึกษาจำนวนมากเกี่ยวกับวัคซีน mRNA ในมนุษย์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

และนับตั้งแต่การระบาดเริ่มต้นขึ้น มีการทดสอบวัคซีนนี้แล้วในคนหลายหมื่นคนทั่วโลก และผ่านกระบวนการรับรองด้านความปลอดภัยที่เข้มงวดแล้ว เช่นเดียวกับวัคซีนใหม่ทุกชนิด วัคซีนนี้ต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ก่อนที่จะได้รับการแนะนำให้นำไปใช้ในวงกว้างได้ ในการทดลองขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 วัคซีนถูกทดสอบในอาสาสมัครจำนวนไม่มากเพื่อตรวจสอบว่ามีความปลอดภัย และมีการกำหนดโดสของวัคซีนที่เหมาะสม ส่วนการทดลองในขั้นที่ 3 จะมีการทดสอบวัคซีนในคนหลายหมื่นคน เพื่อดูว่าได้ผลอย่างไร มีการจับตามองกลุ่มที่ได้รับวัคซีนและกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอกอย่างใกล้ชิดว่า มีปฏิกิริยาในทางไม่ดี หรือผลข้างเคียงใด ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ การเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยยังคงดำเนินต่อไป หลังจากที่มีการรับรองให้นำวัคซีนไปใช้งานได้แล้ว บิล เกตส์ และข้อกล่าวหาไมโครชิป ข้อกล่าวหาต่อมาคือ ทฤษฎีสมคบคิดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก ที่ระบุว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นเพียงการปกปิดแผนการที่จะฝังไมโครชิปที่สามารถแกะรอยได้ในมนุษย์ และผู้ที่อยู่เบื้องหลังแผนการนี้คือ บิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ไม่มี "ไมโครชิป" ในวัคซีน และไม่มีหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาที่ว่า บิล เกตส์ กำลังวางแผนทำเรื่องนี้ในอนาคตด้วย มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ระบุกับบีบีซีว่า ข้อกล่าวอ้างนี้ "ไม่เป็นความจริง" ข่าวลือเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. เมื่อนายเกตส์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า สุดท้ายแล้ว "เราจะมีการรับรองทางดิจิทัลบางอย่าง" ซึ่งจะแสดงว่าใครหายป่วยแล้ว ใครได้รับการตรวจแล้ว และสุดท้ายคือใครได้รับวัคซีนแล้ว

โดยเขาไม่ได้เอ่ยถึงไมโครชิปเลย เรื่องนี้ได้นำไปสู่การส่งต่อบทความที่มีชื่อเรื่องว่า "บิล เกตส์ จะใช้การฝังไมโครชิปเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนา" บทความนี้ได้อ้างถึงการศึกษา ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิเกตส์ ในเทคโนโลยีที่อาจจะเก็บข้อมูลการรับวัคซีนของคนไว้ได้ในหมึกพิเศษที่ถูกฉีดเข้าไปในร่างกายคนพร้อมกับวัคซีน อย่างไรก็ตาม อานา จาเกลเนก นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ใช่ไมโครชิป และน่าจะเหมือนกับรอยสักที่มองไม่เห็นมากกว่า ยังไม่มีการใช้งานเทคโนโลยีนี้ และจะไม่มีการอนุญาตให้แกะรอยคน และข้อมูลส่วนบุคคลจะไม่ถูกนำเข้าสู่ฐานข้อมูล มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ได้ตกเป็นเป้าของข่าวลือต่าง ๆ ที่ไม่เป็นความจริงในช่วงของการระบาดใหญ่ไปทั่วโลกของโควิด-19 เขาเป็นเป้าโจมตีเพราะว่า เขาได้ทำงานการกุศลเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนและสาธารณสุข แม้ว่าไม่มีหลักฐาน แต่จากการสำรวจความคิดเห็นของยูกอฟ (YouGov) เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านในคน 1,640 คน พบว่า 28% ของชาวอเมริกันเชื่อว่า นายเกตส์ ต้องการใช้วัคซีนในการฝังไมโครชิปในคน ขณะที่ตัวเลขนี้เพิ่มเป็น 44% ในหมู่สมาชิกพรรครีพับลิกัน ข้อกล่าวหาเรื่องเนื้อเยื่อจากทารกในครรภ์ เราพบเห็นข้อกล่าวหาหลายข้อว่า วัคซีนมีส่วนประกอบของเนื้อเยื่อบริเวณปอดของทารกในครรภ์ที่ถูกทำแท้ง เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ดร.ไมเคิล เฮด จากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน กล่าวว่า "ไม่มีเซลล์ของทารกในครรภ์ในกระบวนการผลิตวัคซีนใด ๆ" ลิปวิดีโอชิ้นหนึ่งที่ถูกโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊กที่ต่อต้านวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดเพจหนึ่ง ได้อ้างถึงการศึกษาหนึ่งซึ่งตามการบรรยายระบุว่า

เป็นหลักฐานว่ามีอะไรในวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford University) บ้าง แต่การตีความของผู้บรรยายไม่ถูกต้อง การศึกษาที่กำลังพูดถึงนั้นสำรวจปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อวัคซีนถูกนำเข้าสู่เซลล์มนุษย์ในห้องปฏิบัติการ เรื่องที่สร้างความสับสนเพิ่มขึ้นอาจจะเป็นเพราะว่ามีขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาวัคซีนที่ใช้เซลล์ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ ซึ่งมาจากเซลล์ตัวอ่อนที่หากไม่นำมาใช้ก็จะถูกทำลายทิ้ง เทคนิคนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1960 และไม่มีการทำแท้งทารกในครรภ์เพื่อวัตถุประสงค์ในการวิจัยนี้ ดร.เดวิด แมตธิวส์ จากมหาวิทยาลัยบริสตอล (Bristol University) อธิบายว่า วัคซีนหลายชนิดถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีการนี้ โดยร่องรอยใด ๆ ของเซลล์จะถูกกำจัดออกจากวัคซีนทั้งหมดตาม "มาตรฐานระดับสูงเป็นพิเศษ" ผู้พัฒนาวัคซีนที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า พวกเขาใช้เซลล์ที่ถูกโคลนขึ้นมา แต่เซลล์เหล่านี้ "ไม่ใช่เซลล์ที่มาจากทารกในครรภ์ที่แท้ง" เซลล์ทำงานเหมือนกับโรงงานในการผลิตไวรัสที่อ่อนแอขึ้นมาจำนวนมาก ซึ่งมีการนำไปดัดแปลงให้ทำหน้าที่เป็นวัคซีน แต่แม้ว่าจะมีการสร้างไวรัสที่อ่อนแอจากเซลล์ที่ถูกโคลนขึ้นมา สารที่เกี่ยวกับเซลล์นี้จะถูกกำจัดทิ้งให้เหลือเฉพาะไวรัส และไม่ถูกนำไปใช้ในวัคซีนแต่อย่างใด ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับอัตราการหายจากโรค เราเห็นข้อโต้แย้งหลายข้อต่อวัคซีนโควิด-19 ที่มีการส่งต่อกันในโซเชียลมีเดีย ซึ่งได้ถามว่า ทำไมเราจำเป็นต้องรับวัคซีน ถ้าโอกาสในการเสียชีวิตจากไวรัสนี้น้อยมาก ภาพที่มีการส่งต่อกันของคนที่ต่อต้านวัคซีนระบุว่า อัตราการหายจากโรคโควิด-19

อยู่ที่ 99.97% และระบุว่า การป่วยเป็นโควิด-19 ยังเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าการรับวัคซีนเสียอีก เริ่มด้วยตัวเลขที่มีการอ้างถึงในภาพล้อเลียนนั้นว่าเป็น "อัตราการหายจากโรค" โดยหมายถึงคนที่ติดไวรัสนี้และรอดชีวิต นั้นไม่ถูกต้องตามความเป็นความจริง เจสัน โอคี นักสถิติอาวุโสจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวว่า คนราว 99.0% ที่ป่วยเป็นโควิดรอดชีวิต ดังนั้นประมาณ 100 คนในจำนวน 10,000 คน จะเสียชีวิต ซึ่งอัตรานี้สูงกว่าอัตรา 3 คนใน 10,000 คน ตามที่ระบุไว้ในภาพล้อเลียนอย่างมาก อย่างไรก็ตาม นายโอคี กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในทุกกรณี ความเสี่ยงต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับอายุ และไม่ได้มีการพิจารณาถึงระยะเวลาการป่วยด้วยโควิด-19" ไม่ใช่แค่เรื่องอัตราการรอดชีวิตเท่านั้น แม้จะมีคนรอดชีวิตแต่มีหลายคนต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู และมีคนที่ต้องเผชิญกับผลกระทบทางสุขภาพระยะยาวด้วย นี่คือสิ่งที่จะทำให้บริการสุขภาพต้องรับภาระเพิ่มขึ้นจากคนไข้ที่เป็นโควิด-19 ขณะที่ทรัพยากรของโรงพยาบาลมีอยู่อย่างจำกัดในการใช้รักษาคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ ศาสตราจารย์เลียม สมีธ จากวิทยาลัยสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนกรุงลอนดอน(London School of Hygiene and Tropical Medicine) กล่าวว่า การมุ่งเน้นที่อัตราการเสียชีวิตโดยรวม หรือการเห็นว่าการรับวัคซีนเป็นเรื่องส่วนบุคคลนั้น ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการให้วัคซีน เขากล่าวว่า การให้วัคซีนควรถูกมองว่า เป็นความพยายามของสังคมในการปกป้องผู้อื่น "ในสหราชอาณาจักร เหตุผลในการล็อกดาวน์ในพื้นที่ที่เลวร้ายที่สุดในการระบาดของโควิด-19 ก็เพราะบริการสุขภาพจะรองรับไม่ไหว กลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ อย่างผู้สูงอายุและผู้ป่วยในบ้านพักต่าง ๆ

มีโอกาสที่จะล้มป่วยอย่างรุนแรงถ้าติดไวรัสนี้" รายงานเพิ่มเติมโดย คริส บรัมเวลล์, โอลกา โรบินสัน และมารีอันนา สปริง

แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่

Avatar
น้องจริงจ้า

ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ


เลือกประเภทข่าวที่ต้องการโหวต :