ย้ำซ้ำ!! ผลิตภัณฑ์ “ดีคอนแทค” อันตรายอย่าซื้อ
อย. เตือนซ้ำ! หลังพบผลิตภัณฑ์ ดีคอนแทค โผล่ขายในสื่อออนไลน์อีก ย้ำดีคอนแทครักษาโรคไม่ได้ อย. ยกเลิกเลขสารบบอาหารแล้ว อย่าหลงเชื่อซื้อมาบริโภค ขณะนี้ประสานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เพื่อเผยแพร่ข้อมูลแจ้งเตือนประชาชน
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากการติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำหน่ายในท้องตลาด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจพบผลิตภัณฑ์ ดีคอนแทค เลขสารบบอาหาร 10-1-15456-5-0001 ซึ่งเป็นเลขสารบบอาหารที่ถูกยกเลิกแล้ว ขายผ่านร้านค้าตลาดออนไลน์ และมีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณในการรักษาโรคตาทางเว็บไซต์ www.dcontactsiam.com จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทาน โดยผลิตภัณฑ์ ดีคอนแทค อย. ได้ยกเลิกเลขสารบบอาหาร เนื่องจากมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณช่วยป้องกันหรือรักษาโรคทางดวงตา ต้อหิน , ต้อเนื้อ , วุ้นตาเสื่อม และเบาหวานขึ้นตา และใช้บุคคลมีชื่อเสียง มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ หลอกลวงผู้บริโภคให้หลงเชื่อ โดยไม่สมควร เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา อย. ได้ดำเนินการทางกฎหมายกับพรีเซ็นเตอร์และผู้เกี่ยวข้อง มาโดยตลอด ในครั้งนี้ อย. ได้มีหนังสือสั่งระงับการโฆษณา รวมทั้งดำเนินการตามกฎหมายกับผู้โฆษณาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว พร้อมกันนี้ ได้ประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผ่านช่องทางศูนย์ต่อต้าน ข่าวปลอม (Anti Fake News Center) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลแจ้งเตือนประชาชนต่อไป
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า กรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย. จะไม่อนุญาตให้โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยเฉพาะในทางรักษาโรค ทั้งนี้ ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ
ซึ่งเป็นองค์กรทางการแพทย์ได้ทำการค้นหาหลักฐานทางวิชาการแล้วพบว่าไม่มีข้อมูลทางวิชาการใด ๆ ที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดีคอนแทค สามารถรักษาโรคทางตาได้ และขอยืนยันว่า ไม่มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตัวใดมีสรรพคุณรักษาโรคหรือความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ดังนั้น ขอให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางตา อย่าหลงเชื่อไปใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว ซึ่งไม่มีสรรพคุณในการรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ อาจทำให้โรคตาที่เป็นอยู่มีความรุนแรงขึ้น สูญเสียการมองเห็นก็เป็นได้ วิธีการที่ดีที่สุด คือผู้ป่วยควรได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง เพราะดวงตาเป็นสิ่งสำคัญ หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ขอให้ร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือ ผ่านทาง Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่
น้องจริงจ้า
ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ