“Cofact” สร้างวัฒนธรรมใหม่ “Fact Checker” เปิดพื้นที่หาข้อเท็จจริง

“Cofact” สร้างวัฒนธรรมใหม่ “Fact Checker” เปิดพื้นที่หาข้อเท็จจริง

Avatar
โดย น้องจริงจ้า | 8/9/2020

หลายองค์กรจับมือเปิดตัว “Cofact” นวัตกรรม “Fact Checker” ตรวจสอบข้อมูล-ข่าวลวง ที่กำลังแพร่สะพัดในสื่อสงคมออนไลน์ “ทำให้ทุกคนกลายเป็นคนตรวจสอบข่าว หรือ Fact Checker และสร้างพื้นที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงร่วมกันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย” เจตนาสำคัญของนวัตกรรม “โคแฟค” (COFACT.ORG) หรือ Collaborative Fact Checking แพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จะช่วยให้คนไทยไม่ตกเป็นเหยื่อของ “ข่าวลวง” (Fake News) ทุกรูปแบบ โดยกลุ่มภาคีเครือข่ายป้องกันและตรวจสอบข่าวลวง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ThaiPBS มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์กรมหาชน) หรือ TIJ ธนาคารจิตอาสา 77 ข่าวเด็ด Opendream มูลนิธิฟรีดิชเนามัน – Friedrich Naumann Foundation และ The Centre for Humanitarian Dialogue (HD) “ปัจจุบันคนไทยกำลังเผชิญปัญหา “ข่าวลวง” ที่ระบาดหนักในสังคม โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ผิดๆ ด้านสุขภาพ การหลอกขายสินค้า แชร์ลูกโซ่ การพนันออนไลน์ ข่าวภัยพิบัติ” รวมถึงประเด็นทางการเมือง ที่สร้างความสับสน ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด จนยากที่จะเชื่อถือในข่าวสารนั้นๆ ซึ่งถ้าหากคนในสังคมไม่รู้เท่าทันอาจตกเป็นเหยื่อ หรือเผยแพร่ส่งต่อโดยไม่รู้ตัว ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพบว่า แค่ช่วงต้นปี 2563 ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม มีเรื่องร้องเรียนด้านสุขภาพและผลิตภัณฑ์มากถึง 1,055 รายการ ดังนั้นหนทางแก้ไข และน่าจะเป็นอีกตัวช่วยยกระดับสังคมไทยให้มีคุณภาพ ในเรื่องการรับและส่งต่อข้อมูลข่าวสาร สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. หนึ่งในภาคีเครือข่ายป้องกันและตรวจสอบข่าวลวง ระบุว่า

จำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้มาแสวงหาความจริงร่วมกัน และเครือข่ายชุมชนโคแฟคทั้งบนเว็บไซต์ Cofact.org และแอปพลิเคชัน LINE @Cofact นี้เอง จะกลายเป็นกลไกสำคัญในการจุดประกาย สานพลังใจพลเมือง ให้หันมาจับมือช่วยกันขับเคลื่อนกระบวนการตรวจสอบข่าวสารโดยภาคประชาชน ไม่ต่างจากตัวแทนของ มูลนิธิฟรีดิชเนามัน – Friedrich Naumann Foundation และ The Centre for Humanitarian Dialogue (HD) ภาคีต่างประเทศจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสมาพันธรัฐสวิส ที่เห็นด้วยว่า เครือข่ายชุมชนโคแฟคจะช่วยให้ประเทศไทยรับมือข่าวลวงต่างๆ และ Hate Speech ทางการเมืองได้ เพราะแนวคิดที่ให้ทุกคนมาหาความจริงร่วมกันบนพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ไม่ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ตอบโจทย์มากกว่าการใช้อำนาจรัฐเข้าไปแก้ไข แต่เพราะเป็นเรื่องใหม่ การจะเดินให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย กับการนำแรงบันดาลใจจาก โครงการโคแฟคในสาธารณรัฐจีน ที่ภาคประชาสังคมไต้หวันมีความเชื่อมั่นในพลังของพลเมืองต่อการรับมือกับด้านมืดของข้อมูลข่าวสาร ผ่านการมีพื้นที่กลางให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันค้นหาข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริงอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลาและเหตุปัจจัย มาปรับประยุกต์ใช้ในสังคมไทย สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง COFACT.ORG กล่าวว่า การจะขับเคลื่อนให้กลไกโคแฟคสำเร็จได้จริงนั้น ต้องขยายงานจากการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ไปสู่การสร้างชุมชนเพื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริง และทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน ปลุกความเป็น Fact Checker ในตัวเอง “นับว่าเป็นการปฏิรูปสื่อในยุคดิจิทัล ด้วยการหันกลับมาสร้างความเข้มแข็งในภาคพลเมือง และแก้ไขข่าวลวงด้วยหลักวารสารศาสตร์ เช่น

การสืบค้นข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือก่อนเสมอ และสร้างค่านิยมใหม่นี้ให้กลายเป็นวัฒนธรรมของสังคม” อย่างไรก็ดี หลักการของข่าวลวงหรือ Fake News นั้นมีทฤษฎี โดยข่าวลวงนั้นเปรียบได้กับไวรัส คนที่ปล่อยข่าวลวงคือ Spreader แต่บางข่าวลวงที่ไปเร็วและขยายวงกว้างเพราะมี Super Spreader ที่เป็นเซเลบริตี อินฟลูเอนเซอร์ หรือผู้มีอิทธิพลทางสังคมในมิติต่างๆ เป็นผู้ปล่อยสาร แนวทางแก้ไขจึงต้องใช้ Super Corrector ที่มีอิทธิพลในระดับเดียวกันมาให้ข้อมูลด้านที่ถูกต้องและต้องทำทันที หากเป็นข่าวลวงในระดับพื้นที่ชุมชนที่แพร่กระจายตามโซเชียลมีเดียต่างๆ สุภิญญาบอกว่า ต้องอาศัย Many Correctors หรือประชาชนทั่วไปจำนวนมากมาช่วยกันตรวจสอบแก้ไข พร้อมใส่ข้อมูลที่ถูกต้องแทนลงไป จึงจะสามารถหยุดยั้งข่าวลวงนั้นได้ และ COFACT.ORG คือกลไกพื้นที่ที่สอดรับกับวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าว “เราอยากไปไกลกว่า การชัวร์ก่อนแชร์ คือถ้าเห็นอะไรผิดนอกจากจะช่วยตรวจสอบแล้ว อยากให้เกิดการ Correct เอาข้อมูลที่ถูกต้องที่เป็นปัจจุบันที่สุดมาใส่ไว้เป็น Data Base ด้วย เพื่อให้คนอื่นมาเช็คได้ว่าข่าวนี้ลวงหรือจริง โดยสื่อมวลชนเองก็สามารถใช้แพลตฟอร์มนี้ตรวจสอบเนื้อหา ก่อนเผยแพร่ข่าวสารออกสู่สาธารณะได้เช่นกัน” ขณะนี้ COFACT.ORG มีฐานข้อมูลอยู่ประมาณ 1,500 เรื่อง ส่วนมากเป็นประเด็นด้านสุขภาพเน้นไวรัส COVID-19 และกลุ่มโฆษณาชวนเชื่อ ส่วนด้านสังคมและการเมืองที่มีความซับซ้อน ยังไม่มีฐานข้อมูลมากนัก สุภิญญากล่าวด้วยว่า ในอนาคตจะทำเป็นข่าวเจาะเชิงลึก นำชุดข้อมูลมาเรียบเรียง แล้วค่อยนำความเห็นมาประกอบ มากกว่าการฟันธงว่าอะไรจริงไม่จริง

เพราะการเมืองเป็นประเด็นละเอียดอ่อนมีหลากหลายแง่มุม ด้าน กนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อใหม่ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนสื่อมวลชนก่อนนำเสนอข่าวใดๆ ออกไป อยากให้สื่อมุ่งเน้นกระบวนการตรวจสอบเนื้อหาหลายขั้นตอน ควบคู่ไปกับความรวดเร็วในการนำเสนอ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้รับข่าวสาร เพราะปัจจุบันสำหรับชาวบ้านทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่คนในกรุงเทพฯ การตระหนักถึงการแชร์ข้อมูลโดยไม่ตรวจสอบ ประชาชนยังมองเป็นเรื่องไกลตัว วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้ผลิตรายการสารคดีและนักพัฒนาสังคม กล่าวในฐานะผู้เสพสื่อว่า หากแพลตฟอร์มโคแฟคใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพสูงสุดตามที่ตั้งเป้าไว้ ก็จะกลายเป็นเครื่องมือที่ดีของสังคม ทำให้บรรยากาศการถกกันในสังคมอาจจะดีขึ้น เพราะถึงจุดหนึ่งไม่รู้ว่าอะไรจริงไม่จริง “คนส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะที่ยินดีเสพข้อมูลต่างๆ หากว่าตรงกับความเชื่อของตนเอง แค่ส่งไปถามโคแฟคที่เป็นจุดอ้างอิงที่ทุกคนยอมรับและเข้าใจตรงกันก็ได้ข้อยุติแล้ว แต่ทั้งหมดทั้งมวลต้องทำให้โปรเจ็กต์นี้น่าเชื่อถือ และมีฐานข้อมูลวงกว้างมากๆ” เช่นเดียวกับ จิคัยดีล เจะและ ยูทูปเบอร์คนดัง Deen Vlog จาก จ.นราธิวาส ที่เห็นด้วยว่า พื้นที่สร้างสรรค์ COFACT.ORG จะช่วยบรรเทาปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จากข่าวลวงได้ จำได้ว่า Fake News ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีตั้งแต่ตอนที่ผมยังเล็กๆ จากสมัย MSN มา Hi 5 จนปัจจุบันก็เป็น LINE ที่สถานการณ์ก็หนักมากขึ้นเรื่อยๆ มักมีการปล่อยข่าวลวงต่างๆ จิคัยดีล เจะและ ยกตัวอย่างข้อมูลลวงที่ถูกเผยแพร่ในภาคใต้ เช่น

คนมุสลิมไปเผาวัดที่มาเลเซีย หรือคนมุสลิมไปยิงคนไทยพุทธ คนไทยพุทธยิงคนมุสลิม อะไรแบบนี้ใน LINE แทบจะทุกเดือน ซึ่งข้อมูลเท็จเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเกลียดชังที่ไม่ใช่เพียงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่กลายเป็นความบาดหมางระหว่างคนไทยพุทธ และไทยมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย แต่มีคนบางกลุ่มพยายามทำให้เราหวาดกลัวซึ่งกัน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตและเศรษฐกิจ “ผมยืนยันว่า เราโตมาในพื้นที่มันไม่มีอะไร เราอยู่กันแบบปกติสุขทั้ง 3 ศาสนา พุทธ อิสลาม คริสเตียน ดังนั้น ถ้า Fake News ยังไม่หมด เศรษฐกิจรายได้ของชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็จะไม่ดีขึ้น” ยูทูปเบอร์จาก Deen Vlog บอกด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่เขาและเพื่อนๆ ทำได้ คือการป้อนข้อมูลด้านดี ด้านที่เป็นจริงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านการทำช่อง YouTube ให้คนไทยคนทั่วโลกได้เห็น โดยเนื้อหาของ Deen Vlog ไม่ได้แตะเรื่องความบาดหมาง แต่กลับอาศัยการใส่ข้อมูลน้ำดีลงไป ซึ่งช่วยได้มาก ส่วน COFACT.ORG ที่ใช้หลักการทำงานคล้ายๆ กัน แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ใหญ่กว่า มีความน่าเชื่อถือมากกว่า น่าจะเป็นอีกเครื่องมือช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ได้ไม่น้อย จึงอยากให้ทุกคนเข้าร่วมเป็นจิตอาสาเครือข่ายโคแฟค และช่วยกันตรวจเช็คข้อเท็จจริงก่อนแชร์ข้อมูล ขณะที่ พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ระบุว่า โคแฟค จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่เป็นที่พึ่งของประชาชนโดยตัวประชาชนเอง ช่วยปรับพฤติกรรมให้คนในสังคมมีความคิดเชิงวิพากษ์มากขึ้น มองข้อมูลด้วยใจเป็นธรรม ตัดสินบนความเป็นเหตุเป็นผล

ยังเป็นพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญหรือถนัดในด้านต่างๆ ได้นำข้อมูลที่ถูกต้องมาแชร์กันบนโลกออนไลน์ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และข้อมูลจากชัวร์ก่อนแชร์บางส่วนก็ถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำบนแพลตฟอร์มใหม่นี้ด้วย “โครงการโคแฟคของไต้หวัน แรงบันดาลใจตั้งต้น COFACT.ORG ไทย ใช้เวลา 8 เดือน ก็ประสบผล มีกองบรรณาธิการดูแลถึง 400 คน มีประชาชนที่เป็น Fact Checker คอยเฝ้าระวังและป้อนข้อมูลมากถึง 20,000 คน ข่าวสารที่ถูกตรวจสอบและแก้ไขให้ถูกต้องมีถึง 150 ประเด็นต่อสัปดาห์” ฉะนั้นโคแฟคไทยจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ในเร็ววัน ประชาชนในประเทศต้องจับมือกัน สร้างวัฒนธรรมใหม่ Fact Checker ตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์ พร้อมแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อสะกัดกั้นข่าวลวง

แหล่งที่มาของข่าว: คลิกที่นี่

Avatar
น้องจริงจ้า

ผู้ช่วยวิเคราะห์ข่าวกรองให้ทุกท่าน ข่าวไหนจริง หรือ ไม่จริง ตรวจสอบกับน้องจริงจ้าได้ที่นี่เจ้าค่ะ


เลือกประเภทข่าวที่ต้องการโหวต :